ALTV All Around
ALTV News
บทความอื่นจาก Thai PBS
ALTV All Around
ALTV News
บทความ Thai PBS
เด็กติดเกม
แชร์
ฟัง
ชอบ
เด็กติดเกม
11 พ.ย. 67 • 12.00 น. | 167 Views
ขนาดอักษร : กลาง
ALTV CI

“ผู้ปกครอง ต้องหมั่นสังเกตสัญญาณเสี่ยงจากภาวะลูกติดเกม หากพบความผิดปกติเล่นเกมติดต่อกันนานหลายชั่วโมง  มีอาการอดหลับอดนอน กระทบชีวิตประจำวัน และมีอารมณ์หงุดหงิด ก้าวร้าว ต้องหยุดเล่นเกม และควรรีบปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อเข้ารับการรักษาทันที”

วสุ  กลิ่นเกษร  ผู้บรรยายเกม  กล่าวว่า  เกมเป็นลักษณะของกิจกรรม เพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เพื่อความสนุกสนานบันเทิง เพื่อฝึกทักษะ และการเรียนรู้  ซึ่งเงื่อนไขการเล่นเกมประกอบด้วย เป้าหมาย กฎเกณฑ์ การแข่งขันและปฏิสัมพันธ์ เกมจึงมักเป็นการแข่งขันทางจิตใจและด้านร่างกาย   ประโยชน์ของการเล่นเกมคือเกิดการพัฒนาของทักษะในรูปแบบของการออกกำลังกาย หรือการศึกษา แต่หากเล่นมากจนเกินไป ไม่แบ่งเวลา  ย่อมส่งผลทำให้เสียการเรียน เสียสัมพันธภาพกับคนรอบตัว หรือการใช้ชีวิตด้านอื่นๆ  ต้นเหตุสำคัญของโรคติดเกม ส่วนหนึ่งมาจากความไม่เข้าใจของผู้ปกครอง ที่มองว่าเด็กอยู่กับเครื่องมือไอที และอยู่ในสายตาจึงรู้สึกว่าไม่อันตราย แต่จริงๆ แล้วการเล่นเกมจนกลายเป็นการเสพติด  กลับยิ่งทำให้เด็กไม่ได้พัฒนาทักษะและส่งผลต่อสุขภาพตามมา

องค์การอนามัยโลก ประกาศให้โรคติดเกม (Gaming Disorder) เป็นหนึ่งในโรคทางจิตเวช ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมเสพติด ในทางสมองมีลักษณะคล้ายกับติดสารเสพติด เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาสมอง พัฒนาการ และพฤติกรรมของเด็ก   หลังประเทศไทยมีการประกาศให้ E-Sport เป็นกีฬาประเภทหนึ่งแล้ว พบว่า ตัวเลขของเด็กติดเกมที่เข้ารับคำปรึกษากับกรมสุขภาพจิตมีเพิ่มขึ้นถึง 7 เท่า ซึ่งการจะประกาศให้ E-sport เป็นกีฬานั้น  ควรมีการเตรียมความพร้อมและมีมาตรการที่ชัดเจนมากกว่านี้ อย่างต่างประเทศมีการบังคับให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ต้องลงทะเบียนก่อนเล่นเกม และไม่ให้มีการแข่งขันเกมภายในโรงเรียน รวมถึงมีการควบคุมการใช้โทรศัพท์มือถือภายในโรงเรียน

สำหรับข้อสังเกตเบื้องต้น  ว่าเด็กติดเกมหรือไม่นั้น สามารถตรวจสอบได้จากพฤติกรรมของเด็ก  ที่มีการเล่นเกมหลายชั่วโมงติดต่อกัน    สูญเสียการควบคุมตนเอง ไม่ทำการบ้าน ไม่ไปโรงเรียน  ไม่กินข้าว อดหลับอดนอน   หากเด็กเริ่มมีพฤติกรรมเหล่านี้  จะส่งผลกระทบตามมาให้ได้เห็นเป็นรูปธรรมผ่านการกระทำของเด็ก คือ เด็กเริ่มใช้ความรุนแรง ก้าวร้าว เด็กเริ่มพูดโกหก และสุดท้ายเด็กเริ่มขโมยเงิน เพื่อนำไปใช้ซื้อของในเกมหรือนำไปเล่นเกม

แนวทางการแก้ปัญหา  ผู้ปกครองควรยึดหลัก 3 ต้อง 3 ไม่ เพื่อช่วยเด็กไม่ติดเกม  คือ 1.ต้องควบคุมเวลาให้เล่นเกมอย่างเหมาะสม   เด็กประถม ควรให้เล่นวันละ 1 ชั่วโมง  เช่นเดียวกับเด็กมัธยม ให้เล่นวันละ 1 ชั่วโมง   ส่วนเด็กเล็กพ่อแม่ไม่ควรให้เล่น   2.ต้องเลือกเกมที่ไม่มีความรุนแรง และส่งเสริมให้มีการพัฒนาทักษะทางความคิด  และ 3.พ่อแม่และผู้ปกครองควรแบ่งเวลาเล่นเกมกับลูก เพื่อให้ทราบว่าลูกกำลังเล่นเกมอะไรอยู่

ส่วน 3 ไม่ คือ 1.ไม่เล่นในห้องนอน เพราะเป็นพื้นที่ส่วนตัว อาจกระทบกับการใช้ชีวิตและอดหลับอดนอน  2.ไม่เล่นตอนทำกิจกรรมในครอบครัว เช่น เล่นตอนรับประทานอาหารร่วมกันและ 3.ไม่เป็นแบบอย่าง พ่อแม่และผู้ปกครองไม่ควรเป็นแบบอย่างที่ไม่ดี เช่น การเล่นเฟซบุ๊ก หรือเล่นอินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์ตลอดเวลาทั้งนี้ หากพบว่าเด็กมีอาการติดเกมควรเร่งให้เด็กเข้ารับการปรึกษาทันที 

จากข้อมูลตัวเลขกรมสุขภาพจิต ระบุ ตัวเลขเด็กและวัยรุ่นไทยที่มีภาวะติดเกมในระดับที่ปานกลางและรุนแรงจนต้องได้รับการดูแลเร่งด่วนว่าเพิ่มขึ้น 1.5 เท่าตัวในรอบสามปี ทั้งนี้ หมอไม่ได้บอกว่าตัวเกมไม่ดี หรือห้ามใครไม่ให้เล่นเกม แต่สิ่งที่ไม่ดีคือ 'การเล่นจนเสพติด' หรือที่เรียกว่า Addiction นั้นมีอยู่จริง คือเด็กและวัยรุ่นที่เล่นเกมจนไม่เป็นอันทำอะไรและเกิดผลเสียต่อตัวเองและคนอื่น

“ยุคสมัยนี้พ่อแม่คงห้ามไม่ให้เด็กเล่นเกมไม่ได้ แต่ต้องระวังการเล่นจนขาดสติ โดยพ่อแม่ควรจะเข้าใจถึงที่มาที่ไปและสาเหตุของอาการติดเกม และควรจะทราบเกี่ยวกับสัญญาณเตือนการติดเกมของเด็ก เพื่อที่เราจะได้ใช้สังเกตเด็กๆ ที่ดูแล และมีวิธีจัดการและป้องกันเพื่อให้ลูกเล่นเกมโดยที่ไม่ติดเกม”

ส่วนใหญ่เด็กที่ติดเกม สาเหตุที่มักจะพบคือ ปัญหาจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ โดยเฉพาะพ่อแม่ที่ตามใจหรือใจอ่อน ขาดการควบคุมเรื่องระเบียบวินัย บางครั้งพ่อแม่ใช้เกมเป็นพี่เลี้ยงในการดูแลเด็ก เพราะคิดว่าให้เด็กเล่นเกมสบายดี อย่างน้อยไม่ไปซนนอกบ้าน ตรงนี้ถ้าพ่อแม่สามารถให้ระเบียบวินัยที่ชัดเจน มีข้อตกลงชัดเจนก่อนที่จะให้เด็กเล่นเกม เด็กก็สามารถควบคุมตัวเองได้   ทั้งนี้หากสงสัยว่าลูกอาจจะติดเกมควรจะจัดการแก้ไขโดยเร็วพาไปปรึกษาจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น  ที่สำคัญการแก้ปัญหาเด็กติดเกม  ไม่ใช่ความรับผิดชอบของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ต้องเปลี่ยนและปรับทั้งคู่ ทั้งเด็กและพ่อแม่ รวมถึงคนรอบข้าง 

วสุ  กล่าวปิดท้ายว่า  หากเรารู้จักการเล่นเกมอย่างเหมาะสม  ย่อมส่งผลดีทั้งด้านการส่งเสริมทักษะ กระตุ้นอารมณ์ดี    ช่วยบรรเทาความเครียด   ช่วยให้ได้ออกกำลังกายไปในตัว   เป็นกิจกรรมมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นดีขึ้น  ช่วยทำให้ความจำดีขึ้น  พัฒนาทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น   ส่งเสริมพัฒนาทักษะการทำงานการแก้ไขปัญหา  รวมถึงช่วยกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวให้ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น

“หากทุกคนเล่นเกมอย่างเหมาะสมและพอดี  ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ เล่นเกมที่ถูกต้องตามกฎหมาย แน่นอนว่าเกมมีส่วนช่วยในการแก้เครียดได้ดี แต่หากเล่นเกินพอดีอาจจะเครียดกว่าเดิม  อย่าลืมรับประโยชน์จากเกมในเรื่องของการพัฒนาสมอง การใช้ความคิดแก้ไขปัญหา สร้างความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง”

แท็กที่เกี่ยวข้อง
#lifeskill, 
#เด็กติดเกม, 
#เทคโนโลยี 
ผู้เขียนบทความ
avatar
กองบรรณาธิการ ALTV
ALTV CI
ข่าว ALTV
ข่าว ALTV
ALTV News
ผู้เขียนบทความ
avatar
กองบรรณาธิการ ALTV
แท็กที่เกี่ยวข้อง
#lifeskill, 
#เด็กติดเกม, 
#เทคโนโลยี 
แชร์
ฟัง
ชอบ
ติดตามเรา