“การเตรียมตัวก่อนการเดินทางเป็นสิ่งสำคัญ ที่ทำให้การท่องเที่ยวสนุกและปลอดภัยมากขึ้น ระหว่างการเดินทางโดยเครื่องบิน ผู้โดยสารอย่าลืมฟังการสาธิตอุปกรณ์ความปลอดภัย และคาดเข็มขัดนิรภัยตลอดเวลา และฟังประกาศต่าง ๆ จะช่วยให้เราปลอดภัยจากสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด”
หากอ้างอิงข้อมูลเชิงสถิติ พบว่าการเดินทางโดยเครื่องบินโดยสาร คือรูปแบบการเดินทางที่ปลอดภัยที่สุด โดยข้อมูลสถิติของสหรัฐระบุว่า อัตราการเสียชีวิตบนเครื่องบินอยู่ที่ 1 ใน 205,552 หากเทียบกับอัตราการเสียชีวิตในการเดินทางรูปแบบอื่น พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากการขี่จักรยาน 1 ใน 4,050 อุบัติเหตุจากการจมน้ำ 1 ใน 1,086 คน และอุบัติเหตุทางรถยนต์ 1ใน 102 คน นั่นเป็นเพราะการพัฒนาเทคโนโลยีการเดินทางโดยเครื่องบินในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา และการออกกฏข้อบังคับการบินระหว่างประเทศอย่างระมัดระวัง
หลายคนยังรู้สึกตื่นกลัวเมื่อต้องโดยสารเครื่องบิน เพราะเป็นการเดินทางบนความสูง อาจทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัยไม่กล้าเดินทาง รวมถึงมีอาการกลัวความสูง บางคนกลัวตอนเครื่องบินกำลังบินขึ้น กลัวตอนเครื่องบินลงจอด และกลัวเครื่องบินตกหลุมอากาศหรือผ่านเข้าเขตสภาพอากาศแปรปรวน หากมีอาการแบบนี้อาจเข้าข่ายโรคกลัวเครื่องบิน ซึ่งความจริงแล้วการนั่งเครื่องบินไม่น่ากลัวอย่างที่คิด เพียงแค่เรารู้ขั้นตอนการโดยสารเครื่องบินอย่างไรให้ปลอดภัย
ข้อควรปฏิบัติของผู้โดยสารเครื่องบิน ต้องทราบว่าสิ่งของใดนำขึ้นเครื่องบินได้และนำขึ้นไม่ได้ หรือที่เรียกว่าของต้องห้ามนำขึ้นเครื่องบิน เนื่องจากระหว่างที่บินอยู่อาจเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด การกระแทกที่รุนแรงจนทำให้สิ่งของที่ห้ามเอาขึ้นเครื่องบินการเกิดความเสียหายจนส่งผลร้ายแรงต่อการเดินทางในครั้งนี้ เพราะสิ่งของบางสิ่งบางอย่างอาจส่งผลร้ายแรงต่อสายการบินและผู้โดยสารคนอื่นได้
ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของการเดินทาง ทางสายการบินจึงทำการกำหนดของที่ห้ามสำหรับขึ้นเครื่องบินไว้ 10 ชนิด คือ 1. เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง ของเหลว เจล สเปรย์ กำหนดโดยองค์การการบินพลเรือน ให้เป็นสิ่งที่ห้ามเอาขึ้นเครื่องบินเนื่องจากสามารถนำไปใช้เพื่อการเป็นสารตั้งต้นของการทำระเบิดได้ ข้อกำหนดนำขึ้นเครื่องบิน ต้องมีความจุไม่เกิน 100 มิลลิลิตรต่อ 1 ชิ้น หรือรวมกันต้องไม่เกิน 1,000 มิลลิลิตร การบรรจุของเหลวต้องไม่มีรอยเปิด แกะ หรือฉีกขาด
2. อาวุธ ของมีคม ถือเป็นสิ่งที่ห้ามเอาขึ้นเครื่องบินระดับต้น ๆ เนื่องจากอาวุธ ของมีคมอาจเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการทำร้ายร่างกายหรือก่อการร้ายในการเดินทางได้ 3. สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ เนื่องจากสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์คือการนำผลงานของผู้อื่นมาใช้ เผยแพร่ ดัดแปลง ทำซ้ำ โดยผู้เป็นเจ้าของผลงานไม่อนุญาตหรือไม่ได้รับทราบ เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายของแต่ละประเทศ หากเจ้าหน้าที่ตรวจเจออาจโดนยึดหรือถึงขั้นถูกดำเนินคดีได้
4. แบตเตอรี่สำรอง หากเก็บในห้องสัมภาระอาจเกิดการระเบิดได้ เนื่องจากห้องสัมภาระเป็นห้องที่มีความร้อนสูง จึงมีข้อกำหนดสิ่งที่ห้ามเอาขึ้นเครื่องบินว่าสามารถนำแบตเตอรี่สำรองพกติดตัวขึ้นเครื่องได้ แต่ต้องอยู่ในความจุที่สายการบินนั้นกำหนดไว้ คือ แบตเตอรี่สำรอง ต้องมีความจุไม่เกิน 20,000 มิลลิแอมป์ และแบตเตอรี่สำรอง ความจุมากกว่า 32,000 มิลลิแอมป์ ไม่สามารถนำขึ้นเครื่องบินได้ 5. วัตถุไวไฟ วัตถุระเบิด เนื่องจากเป็นต้นตอของปัญหาที่อาจส่งผลต่อผู้โดยสารและความเสียหายบนเครื่องบินได้
“อีกสิ่งที่ห้ามบนเครื่องบินเลย คือ ห้ามเล่นอะไรแผลง ๆ เช่น การตะโกนหลอกเพื่อนร่วมทริปว่า มีระเบิด, ในกระเป๋ามีระเบิด, ระวังเจอระเบิดบนเครื่องบินนะ, เดี๋ยวจะระเบิดสนามบินซะเลย เพราะเรื่องนี้ถือว่าเป็นความผิดร้ายแรง มีโทษตามกฏหมาย”
6. อาหารที่มีกลิ่นแรง ทางสายการบินมีข้อกำหนดไม่อนุญาตให้นำอาหารที่มีกลิ่นแรงขึ้นเครื่องบิน เพราะอาจส่งกลิ่นรบกวนต่อผู้โดยสารท่านอื่น 7. สัตว์มีพิษ และสัตว์ดุร้ายเป็นอีกสิ่งที่ห้ามนำขึ้นเครื่องบิน เนื่องจากอาจทำให้ผู้โดยสารท่านอื่น ๆ ได้รับบาดเจ็บได้ บางสายการบินอนุญาตให้นำขึ้นเครื่องได้แต่ต้องมีอายุมากกว่า 2 เดือนขึ้นไป มีใบตรวจสุขภาพจากสัตวแพทย์ โดยต้องระบุรายละเอียดของสัตว์เลี้ยงชัดเจนและเป็นไปตามเงื่อนไขของสายการบินนั้น ๆ ซึ่งทางสายการบินจะนำสัตว์เลี้ยงของเราบรรทุกไว้ที่สัมภาระพิเศษใต้ท้องเครื่อง
8. สารอันตรายต่างๆ หรือสารเสพติด เพราะอาจทำให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงที่ไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งสารอันตรายต่าง ๆ หรือสารเสพติด อย่างเช่น สารเสพติด สารติดเชื้อ วัสดุกัมมันตรังสี หรือวัตถุที่ระบุไว้ในข้อบังคับสินค้าอันตราย 9. ของประดับมูลค่าแพง เพราะหากหายหรือถูกขโมย อาจส่งผลให้การเดินทางครั้งนี้มีแต่ความทุกข์ใจ เพื่อการเดินทางที่สะดวกและปลอดภัย ทางสายการบินเห็นถึงความสำคัญในข้อนี้จึงมีข้อกำหนดสิ่งที่ห้ามเอาขึ้นเครื่องบิน และ10. เนื้อสัตว์ของสดหรือแช่แข็ง เพราะมีโอกาสสูงที่จะเน่าเสียและส่งกลิ่นเน่าเหม็นรบกวนผู้อื่น
นอกจากการปฏิบัติตนตามข้อกำหนดของสายการบินด้วยการไม่นำสิ่งของต้องห้ามขึ้นเครื่องบินแล้ว การเตรียมตัวให้พร้อมรับมือกับสภาพอากาศเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้โดยสาร เช่น การตกหลุมอากาศ คือ สภาพอากาศที่ความหนาแน่นน้อยกว่าทำให้แรงยกเครื่องบินน้อยตามไปด้วย เครื่องจะตกลงตามแรงดึงดูดโลก ทำให้รู้สึกว่าเครื่องบินร่วงหล่นลงมาอย่างรวดเร็ว เรียกกันว่า หลุมอากาศ ที่ทำให้ผู้โดยสารตกใจกลัว ซึ่งหลุมอากาศมี 3 ระดับ คือ หลุมอากาศระดับเบา ระดับกลางและระดับรุนแรง จังหวะนี้ต้องรีบคาดเข็มขัดโดยเร็ว เพราะความรุนแรงนั้นอาจทำให้ของหล่นกระจัดกระจาย หรือหากไม่คาดเข็มขัดตามสัญญาณ อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุทำให้ได้รับบาดเจ็บได้
สำหรับการปฏิบัติตนเป็นผู้โดยสารสายการบินที่ดีควรเก็บสัมภาระให้เรียบร้อย ใส่สายรัดเพิ่มออกซิเจน ปิดโทรศัทพ์มือถือก่อน-ลงเครื่อง และเตรียมพร้อมเสมอเมื่ออยู่บนเครื่องบิน ระหว่างอยู่บนเครื่องบินควรฟังการสาธิตอุปกรณ์ความปลอดภัยอย่างตั้งใจ คาดเข็มขัดนิรภัยตลอดเวลา เพื่อลดแรงกระแทกกรณีเครื่องบินผ่านสภาพอากาศแปรปรวน หรือหลุมอากาศ ฟังประกาศเสมอ เพราะบนเครื่องบินจะมีการประกาศแจ้งเตือนเมื่อบินผ่านสภาพอากาศแปรปรวน
เช็กเข็มขัดนิรภัย เมื่อมีไฟแจ้งเตือนปรากฏขึ้นให้คาดเข็มขัดนิรภัย ควรตรวจสอบอีกครั้งว่าได้รัดเข็มขัดนิรภัยอย่างกระชับหรือไม่ แจ้งพนักงานเมื่อพบความผิดปกติ เพื่อให้พนักงานเข้าช่วยเหลือได้ทันเวลา ผู้โดยสารต้องมีสติอยู่เสมอหากเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติ ปฏิบัติตามคำแนะนำของพนักงาน กรณีตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของพนักงานอย่างเคร่งครัด เพราะพนักงานบนเครื่องบินผ่านการฝึกอบรมในการจัดการกับสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งสามารถแนะนำขั้นตอนที่ถูกต้องในการช่วยเหลือได้