ALTV All Around
ALTV News
บทความอื่นจาก Thai PBS
ALTV All Around
ALTV News
บทความ Thai PBS
เล่นสไลม์อย่างไรให้ปลอดภัย
แชร์
ชอบ
เล่นสไลม์อย่างไรให้ปลอดภัย
30 พ.ย. 67 • 09.00 น. | 92 Views
ขนาดอักษร : กลาง
ALTV CI

สไลม์ (Slime) หรือ น้ำลายเอเลี่ยนของเล่นสุดฮิตสำหรับเด็ก มีลักษณะเป็นก้อนข้นเหนียว ยืดหยุ่น มีสีมากมายทั้งใสและทึบ  สไลม์เป็นของที่เด็กฝรั่งเล่นกันมานานหลายสิบปีก่อนจะมาถึงเมืองไทย ทำมาจากโพลิเมอร์ (polymer) ซึ่งใช้ในการผลิต nylon, polyester และ polystyrene  อันตรายของสไลม์มาจากสารเคมีหลายชนิดที่อยู่ในของเล่นชนิดนี้  เพราะสไลม์ผลิตจากกาวลาเท็กซ์ ผสมกับสารเคมีต่าง ๆ อาทิ ผงซักฟอก หรือสารบอแรกซ์   เพื่อทำให้กาวที่เหนียวมีความนุ่ม ผู้ผลิตบางรายยังใส่ สารหนู หรือโลหะหนัก รวมถึงสารโทลูอีนซึ่งเป็นสารที่ใช้ในอุตสาหกรรมสี

“สไลม์ มีความหนืดและความเหนียว เพราะทำมาจากส่วนผสมหลักคือ บอแรกซ์ และน้ำ แต่ปัจจุบันสไลม์มีสูตรต่าง ๆ มากมาย ทั้งสูตรที่ใช้กาว  ใช้บอแรกซ์  รวมถึงการใส่สีสันต่างๆ ลงไปเพื่อเพิ่มความสวยงาม  ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่มีความหนืดยืดได้  สไลม์จึงเป็นเหมือนของเล่นเด็กที่เสริมทั้งจินตนาการและพัฒนาการไปพร้อมๆ กัน”

สไลม์  เป็นของเล่นที่เหมาะกับการทำกิจกรรมสำหรับเด็กอายุ 3-6 ปี  เนื้อสัมผัสที่ยืดหยุ่น เด้งนุ่มของสไลม์ช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัส เมื่อออกแรงกด บีบ หรือจับยืด ประสาทสัมผัสจะถูกกระตุ้น เป็นของเล่นส่งเสริมพัฒนาการการเรียนรู้ผ่านการเล่น ให้เด็กได้ใช้เวลาเล่นกับเพื่อน ๆ ส่งเสริมให้เด็กได้ใช้กล้ามเนื้อมือให้คล่อง เตรียมความพร้อมสำหรับการเขียน  เพื่อพัฒนาความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมือมัดเล็ก กล้ามเนื้อนิ้วมือ เป็นการฝึกหยิบจับ ช่วยประสานสัมพันธ์ระหว่างมือกับตา

ประโยชน์ของสไลม์จัดเป็นของเล่นกระตุ้นประสาทสัมผัส เวลาที่เด็กสัมผัสกับสไลม์ ความหนืด ความเหนียว ความหยืดหยุ่นจะช่วยให้เด็กมีสมาธิมากขึ้น  กระตุ้นจินตนาการที่สร้างสรรค์เพราะรูปร่างของสไลม์สามารถแปรเปลี่ยนไปตามการปั้น การฉีก การโยน ไม่ได้ถูกจำกัดไว้ในรูปร่างเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง  รวมถึงการกระตุ้นความสงสัยของเด็กๆ ให้เกิดการคิดอย่างต่อเนื่อง

แต่ก็มีข้อควรระวังสารเคมีจากสไลม์ เนื่องจากสไลม์มีหลายสูตรการผลิต และบางสูตรอาจจะมีวัตถุดิบบางอย่างที่เป็นสารเคมี หรือมีวัตถุดิบบางอย่างที่อาจจะก่อให้เกิดอาการแพ้ อาการระคายเคืองกับเด็กได้  หรือเด็กอาจนำก้อนสไลม์เข้าปากได้ เวลาให้ลูกเล่นสไลม์จึงต้องคอยดูแลอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในกรณีเด็กเล็ก มักจะชอบหยิบจับของเล่นเข้าปาก  รวมถึงระมัดระวังสินค้าหมดอายุ  การเลือกซื้อสไลม์อย่าลืมเช็กวันเดือนปีที่ผลิต และวันหมดอายุ เพราะสไลม์ที่หมดอายุแล้วอาจจะส่งผลเสียต่อสุขภาพของเด็กได้เช่นกัน

“บอแรกซ์ หรือโซเดียมโบเรท  คือหนึ่งในสารเคมีที่นิยมนำมาเป็นส่วนประกอบในการทำสไลม์  สารเคมีชนิดนี้มีลักษณะเป็นผงสีขาว ไม่มีกลิ่น สามารถละลายน้ำ หากร่างกายได้รับบอแรกซ์ในปริมาณมากจนเกินไป จะทำให้เกิดพิษสะสม และเป็นอันตรายต่อร่างกายได้”

ระมัดระวังไม่ให้สไลม์เข้าปาก เนื่องจากสไลม์ที่ซื้อตามท้องตลาดทั่วไป  ยังไม่ได้รับการยืนยันว่าสามารถใช้เป็นของเล่นได้ เนื่องจากตรวจพบว่าภายในสไลม์มีสารบอแรกซ์ สารหนู และสารโลหะหนักอย่างตะกั่วผสมอยู่  ซึ่งสารพวกนี้แม้จะมีปริมาณน้อย แต่หากมีการสัมผัสเป็นเวลานาน อาจเกิดอาการระคายเคืองหรือแพ้ได้ และหากได้รับสารเคมีปริมาณมาก อาจส่งผลต่อ ตับ ไต สมอง ซึ่งจะทำให้เด็กมีพัฒนาการที่ช้ากว่าปกติ นอกจากนี้ ที่ควรระวังที่สุดคือ สารบอแรกซ์ เพราะเป็นสารอันตรายที่อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้   

อันตรายจากสารบอแรกซ์  หากสัมผัสทางลมหายใจก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุเมือกและทางเดินหายใจส่วนบน ไอ คลื่นไส้ อาเจียน  กรณีสัมผัสทางผิวหนังทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง ผื่นแดง ปวดแสบปวดร้อน และอาจเป็นอันตราย เช่นเดียวกับการกลืนเข้าไปถ้าสารนี้ถูกดูดซึมผ่านผิวหนังเข้าสู่ร่างกาย  หากเด็กกลืนหรือกินเข้าไปทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง ปวดท้อง หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ลำตัวเขียว คล้ำ เพ้อคลั่ง หมดสติ ชักและอาจเสียชีวิต

ขณะที่อันตรายจากสารตะกั่ว  ส่งผลต่อสมองและการติดต่อเชื่อมกันของเซลล์ประสาท โดยสารตะกั่วจะจับกับเซลล์แทนที่แคลเซียม ทำให้เนื้อสมองบวม ยับยั้งการทำงานของสารสื่อประสาท  นอกจากนี้สารตะกั่วสามารถก่อให้เกิดปัญหากับทารกในครรภ์ หากมีสารตะกั่วในปริมาณมากอาจทำให้เกิดการแท้ง หรือคลอดก่อนกำหนด เด็กที่เกิดมามีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ การทำงานของสมองพัฒนาการล่าช้า 

หากต้องการให้เด็กเล่น ผู้ปกครองควรเลือกวัสดุจากธรรมชาติมาผลิตเอง และที่สำคัญควรให้เด็กทำความสะอาดมือทุกครั้งหลังจากเล่นเสร็จทำสไลม์  ลองทำสไลม์ในสูตรที่ปราศจาก สารบอแรกซ์ สารหนู ตะกั่ว และโลหะหนัก ที่เป็นอันตราย เพื่อเด็กๆ จะได้เล่นสไลม์ได้อย่างสนุก ปลอดภัยมีความสุขและสบายใจสำหรับคุณพ่อคุณแม่

วิธีทำสไลม์แป้งข้าวโพด  มีส่วนประกอบ น้ำ1ถ้วยครึ่งหรือประมาณ 350 มล.  สีผสมอาหาร 3-4 หยด  และแป้งข้าวโพด 2 ถ้วย จากนั้นขั้นตอนการทำ เทน้ำอุ่นลงในถ้วยใส่สีผสมอาหาร ก่อนนำแป้งข้าวโพดเทลงไป ใช้มือผสมให้เข้ากัน จนได้ส่วนผสมเหนียวข้นเป็นเนื้อเดียว ปรับความเข้มข้นของสไลม์ตามชอบ หากสไลม์เหลวเกินไป ให้ใส่แป้งข้าวโพดเพิ่ม  ใส่สไลม์ไว้ในถุงพลาสติก ปิดปากถุงให้ดีเพื่อให้เก็บได้นาน   ทั้งนี้วิธีการทำสไลม์ที่ปลอดภัย  เด็กๆ ยังสามารถเปลี่ยนจากแป้งข้าวโพดเป็นนมข้นหวาน  หรือแป้งเด็กได้ตามความสะดวก

และเพื่อลดการรับเชื้อเข้าร่างกาย ระหว่างเล่นผู้ปปกครองควรสอนให้ลูกอย่าเอามือเข้าปาก หรือขยี้ตา เพราะลักษณะของสไลม์จะสะสมเชื้อโรคได้เป็นอย่างดี สามารถรับเชื้อเข้าร่างกายได้สูงมาก ให้ลูกล้างมือทุกครั้งหลังเล่นเสร็จ เพื่อลดโอกาสรับเชื้อเข้าร่างกาย ในระหว่างลูกเล่นสไลม์ควรดูแลอย่างใกล้ชิด ระมัดระวังไม่ให้ลูกเอาสไลม์เข้าปาก ควรอ่านฉลาก ปฏิบัติตามคำแนะนำ และตรวจสอบให้ดีว่า สไลม์มีส่วนผสมของสารเคมีใด ๆ บ้าง เก็บอุปกรณ์และส่วนผสมในการทำสไลม์ โดยเฉพาะกลิตเตอร์ ลูกปัดชิ้นเล็ก ๆ ให้พ้นมือเด็ก เพราะเมื่อเด็กนำเข้าปาก อาจทำให้สำลัก ติดคอเกิดอันตรายได้

แท็กที่เกี่ยวข้อง
#Lifeskill, 
#ภัย, 
#ของเล่น, 
#สไลม์ 
ผู้เขียนบทความ
avatar
กองบรรณาธิการ ALTV
ALTV CI
ข่าว ALTV
ข่าว ALTV
ALTV News
ผู้เขียนบทความ
avatar
กองบรรณาธิการ ALTV
แท็กที่เกี่ยวข้อง
#Lifeskill, 
#ภัย, 
#ของเล่น, 
#สไลม์ 
แชร์
ชอบ
ติดตามเรา