ข้อมูลจากเว็บไซต์เวิลด์แอตลาส เผยรายชื่อประเทศ 20 อันดับ ที่มีอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนมากที่สุด ระบุประเทศไทยติดอันดับ 1 ของโลกแทนที่ประเทศลิเบีย โดยไทยมีอัตราการเสียชีวิต 36.2 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน หรือจะมีคนเสียชีวิต 24,254 คนต่อปี ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของทั่วโลกอยู่ที่เพียง 18 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน ส่วนสาเหตุหลักของการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนคือคน และความเร็วของการขับรถ การไม่รัดเข็มขัดนิรภัย ไม่สวมหมวกกันน็อกในการขับขี่จักรยานยนต์ การเมาแอลกอฮอล์แล้วขับรถ และร้อยละ 83ของการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนในประเทศไทยเป็นคนเดิน ผู้ถีบจักรยาน และผู้ใช้จักรยานยนต์
ดังนั้น กฏจราจรที่ควรรู้เบื้องต้นเพื่อการขับขี่ปลอดภัยบนท้องถนน ล้วนต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ที่ใช้รถใช้ถนนร่วมกัน และการจราจรที่มีความเป็นระเบียบจะช่วยลดปัญหาในการเดินทางหรือสามารถลดระยะเวลาในการเดินทางอีกด้วย กฏจราจรเบื้องต้นจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรทราบและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อปลูกจิตสำนึกมีวินัยที่ดีในการขับขี่ และลดการเกิดอุบัติเหตุ
สำหรับป้ายจราจรมี 3 ประเภท คือป้ายเตือน บังคับ และแนะนำ ประเภทป้ายเตือน เช่น ป้ายทางข้ามทางรถไฟ ป้ายทางโค้งขวา ป้ายวงเวียนข้างหน้า จุดประสงค์ก็มีไว้เพื่อแจ้งเตือน ให้ผู้ขับขี่มีความระมัดระวังในการใช้รถใช้ถนนกันมากขึ้น และเป็นการแจ้งเตือนถึงสิ่งที่จะเจอข้างหน้า ป้ายบังคับจะเป็นประเภทป้ายห้ามเลี้ยวซ้าย ป้ายห้ามแซง และป้ายห้ามจอดรถ ซึ่งมีไว้เพื่อควบคุมให้ผู้ขับขี่ปฏิบัติตามกฏจราจรอย่างเคร่งครัดและเพื่อวินัยการขับขี่ที่ดีบนท้องถนน และป้ายแนะนำ จะเป็นเครื่องหมายอย่างตำแหน่งทางข้าม จุดกลับรถ และบอกระยะทางเป็นระยะ ๆ โดยประโยชน์ของป้ายจราจรประเภทนี้มีไว้เพื่อช่วยแนะนำการเดินทางให้สะดวกสบายและง่ายต่อการสังเกต
“กฎหมายของประเทศไทยเกี่ยวกับความปลอดภัยบนท้องถนนดีอยู่แล้ว แต่ยังต้องมีการปรับแก้ไขเรื่องความเร็วของการขับรถในเมือง ควรต่ำกว่า 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และในบางชุมชนควรพิจารณาปรับความเร็วให้เหมาะสมกับถนนต่าง ๆ ที่มีความพร้อม เหมาะสมไม่เท่ากัน ส่วนเรื่องการสวมหมวกกันน็อก ผู้ขับและผู้โดยสารต้องสวมหมวกกันน็อกที่ได้มาตรฐาน แต่ปัจจุบันนี้มีประมาณ 50% เท่านั้นที่ใช้หมวกกันน็อกในผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ และน้อยกว่านั้นสำหรับผู้โดยสาร โดยไม่ได้มีการควบคุมดูแลกฎหมายนี้ให้เคร่งครัด”
อุบัติเหตุบนท้องถนน ถือเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากที่สุด เพราะทุกคนต้องใช้รถในการเดินทาง ดังนั้นการศึกษาเรื่องเครื่องหมายจราจรและข้อควรปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยทั้งผู้ขับและผู้ข้ามถนน จึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องกฏระเบียบข้อควรปฏิบัติของผู้ขับขี่รถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ควรปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพราะหากฝ่าผืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ย่อมมีบทลงโทษเพื่อสร้างความตระหนักและเกิดจิตสำนึกไม่ให้กระทำผิดซ้ำ เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุที่สร้างความเสียหายต่อชีวิตทรัพย์สินทั้งต่อตนเองและผู้อื่น อาทิ การคาดเข็มขัดนิรภัยอยู่ตลอดเวลา เป็นสิ่งแรกที่ควรทำเมื่อขึ้นรถ เพื่อความปลอดภัยในการขับขี่กรณีเกิดอุบัติเหตุหรือการเบรครถอย่างกระทันหันในขณะขับขี่ หากฝ่าฝืนจะถือว่ามีความผิด ต้องระวางโทษปรับคนขับ 500 บาท และผู้โดยสารอีก 500 บาท
ทางม้าลายต้องหยุดให้คนข้าม รถจักรยานต์ หรือรถยนต์ต้องชะลอความเร็วเพื่อหยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย ตามกฎหมาย ไม่ควรเร่งความเร็ว และห้ามแซงในระยะ 30 เมตร เพื่อหยุดให้คนข้ามทางม้าลาย พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 46 และ มาตรา 70 หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย ระบุไว้ว่าหากไม่หยุดรถจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 21 มีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท
ขับรถในความเร็วที่กฎหมายกำหนด ผู้ใช้รถบนถนนต้องมีวินัยในการขับรถตามที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก และพระราชบัญญัติจราจรทางหลวง เกี่ยวกับความเร็วของการใช้รถใช้ถนนนั้น มีตั้งแต่ ใช้ความเร็วสูงสุดได้ไม่เกิน 80-120 กม./ชม.ตามแต่ละประเภท เช่น บนทางหลวงระหว่างจังหวัดสามารถใช้ความเร็วสูงสุดได้ไม่เกิน 90 กม./ชม. โดยถ้าหากไม่ปฏิบัติตามกฎหมายมีโทษปรับสูงสุด 1,000 บาท
ทั้งนี้ ในส่วนของผู้เดินเท้าบนถนนบนทางม้าลาย ควรมีหลักปฏิบัติในการข้ามถนนอย่างปลอดภัยเช่นกัน คือ ควรหยุดยืนรอบนทางเท้า มองด้านซ้ายและขวาจนมั่นใจว่ารถอยู่ในระยะไกล หรือรถที่วิ่งผ่านมาหยุด จึงค่อยเดินข้ามถนน โดยเดินด้านซ้ายของทางม้าลาย พร้อมเพิ่มความระมัดระวังรถที่อาจขับแซงขึ้นมา และหากจะข้ามตรงทางข้ามที่มีเครื่องหมายจราจร ให้ปฏิบัติตามไฟสัญญาณจราจรที่ปรากฏต่อหน้า โดยสัญญาณไฟสีแดง ให้หยุดรอบนทางเท้า ห้ามมิให้คนเดินข้าม ไฟสีเขียวให้คนเดินเท้าข้ามทางเดินรถได้ ไฟสีเขียวกะพริบให้คนที่ยังมิได้ข้ามหยุดรอบนทางเท้า แต่ถ้ากำลังข้าม ให้ข้ามอย่างรวดเร็ว
ร.ต.ต.ดร.เฉลิมพรหม อิทธิยาภรณ์ แนะหลักการเดินบนถนนอย่างปลอดภัย คือ ข้ามถนนในบริเวณที่ปลอดภัย เช่นสะพานลอย ทางม้าลาย และจุดที่มีสัญญาณไฟสำหรับคนข้ามถนน ไม่วิ่งตัดหน้ารถในระยะกระชั้นชิด มองเส้นทางเดินให้รอบด้านก่อนข้ามถนน ห้ามเล่นมือถือ พิมพ์ข้อความ หยอกล้อเล่นกัน ทำให้ไม่สนใจสภาพแวดล้อมรอบตัว และไม่ทันระวังอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น กรณีเดินบนทางเท้าหรือไหล่ทาง ไม่ควรเดินชิดริมขอบถนน หรือใกล้ทางเดินรถมากเกินไป พร้อมเพิ่มความระมัดระวังรถจักรยานยนต์ที่มักจะขับขี่บนทางเท้า กรณีข้ามถนนบริเวณทางม้าลาย
นอกจากนี้ ผู้ขับขี่หรือผู้โดยสารรถจักรยานยนต์ ควรต้องสวมใส่หมวกกันน็อคทุกครั้ง เพราะไม่ว่าจะเดินทางในระยะใกล้หรือไกล อุบัติเหตุที่ไม่คาดคิดอาจสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ การใส่หมวกนิรภัยจึงเป็นการป้องกันที่ดีที่สุดที่จะช่วยลดความรุนแรงหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาได้ โดยวิธีเลือกหมวกกันน็อคที่เหมาะสมควรเลือกหมวกกันน็อคที่มีขนาดกระชับกับศีรษะ มีน้ำหนักพอดี ไม่หนักและเบามากเกินไป มีความทนทาน แข็งแรง รับแรงกระแทกได้ มีการระบายอากาศได้ดี
สำหรับหมวกกันน็อค มี 3 ประเภทหลัก คือ หมวกกันแบบน็อคครึ่งใบ มีผู้ใช้งานค่อนข้างมาก เนื่องจากสวมใส่ง่าย แต่เป็นหมวกที่มีประสิทธิภาพป้องกันต่ำ เนื่องจากส่วนป้องกันของหมวกอยู่แต่เพียงบริเวณกระหม่อมศรีษะ ไม่เหมาะแก่การขับขี่ด้วยความเร็วเกิน 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เนื่องจากไม่มีกระจกป้องกันลม อาจมีเศษวัสดุ หรือแมลงเข้าตาได้ง่าย ส่วนหมวกกันแบบน็อคเปิดหน้า เป็นอีกประเภทที่มีผู้ใช้งานมาก เนื่องจากมีการป้องกันที่คลอบคลุมรอบศีรษะ มีกระจกบังลม เป็นหมวกกันน็อคที่เหมาะสำหรับการขับขี่ในเมือง แต่มีข้อเสียคือไม่มีการป้องกันบริเวณคางและลมสามารถย้อนเข้ามาใต้คางทำให้ตาแห้งง่าย สุดท้ายคือหมวกกันน็อคแบบเต็มใบ เป็นหมวกกันน็อคที่ปลอดภัยที่สุด มีส่วนของการป้องกันคลอบคลุมทั้งศีรษะ ข้อเสียคือสวมใส่ค่อนข้างยากสำหรับผู้ไม่ได้ใช้งานบ่อย และอาจอึดอัดเกินไปสำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคย