เหมือนเช่น การปะทุของภูเขาไฟเมื่อครั้งอดีตที่ผ่านมานั้น ล้วนสร้างสรรค์สิ่งทั้งมีชีวิตและไม่มีชีวิตใหม่ๆ ขึ้นมา ซึ่งมีความสำคัญต่อการเป็นปัจจุบันทั้งสิ้น และหลายพื้นที่ของร่องรอยการปะทุของภูเขาไฟก็ล้วนแต่มีความอุดมสมบูรณ์ของสรรพสิ่ง ทั้งแร่ธาตุและอาหาร จนทำให้สัตว์โลกอย่างมนุษย์เรา เลือกที่จะไปตั้งหลักปักฐาน สร้างบ้านเรือน ใกล้ๆ บริเวณนั้น จนเกิดเป็นชุมชนที่มีวิถี และวัฒนธรรม ที่สอดคล้องกับประวัติศาสตร์
นำพาทุกคนเดินทางผ่านตัวหนังสือในบทความนี้ไปในดินแดนภูเขาไฟที่อยู่ในประเทศไทย ที่ไม่ได้ไกลจากกรุงเทพมหานครมากนัก หากเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวอาจใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมง ชวนทุกท่านไปสำรวจพื้นเล็ก ๆ ในดินแดนอีสานใต้ อย่าง “บุรีรัมย์” เมืองที่เต็มไปด้วยเรื่องราวประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และวิถีชีวิต สิ่งมหัศจรรย์ที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงของโลกธรรมชาติ
“บุรีรัมย์ ดินแดนภูเขาไฟแห่งความงดงามของวิถีชุมชนที่รอวันปะทุ” หลายคนเมื่อได้อ่านชื่อบทความก็อาจจะตกใจถึงความหมายที่กล่าวถึง การปะทุใหม่ดังกล่าวไม่ใช่การปะทุของภูเขาไฟในจังหวัดบุรีรัมย์อย่างแน่นอน เพราะปัจจุบันภูเขาไฟทุกลูกในพื้นที่ทั้งหมดได้ดับสนิทแล้ว แต่การปะทุใหม่ที่งดงามกว่านั้นคือการเตรียมพร้อมการปะทุเรื่องราวของวิถีชุมชน ผู้คน และภูมิปัญญาดั้งเดิมที่มีมาตั้งแต่บรรพกาล วันนี้เราจะพาไปรู้จักกับจังหวัดบุรีรัมย์ดินแดนภูเขาไฟ และชาวบ้านในชุมชน 6 อำเภอ ที่มีการเตรียมความพร้อมด้านการผลักดันการท่องเที่ยวเชิงวิถีผ่านทรัพยากรชุมชนหลังจากวิกฤตการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คลี่คลายลง
คำขวัญที่บ่งบอกเอกลักษณ์ และความเป็นตัวตน ของจังหวัดหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนใต้ นั่นคือ จังหวัดบุรีรัมย์
บุรีรัมย์ เคยเป็นดินแดนที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยทวาราวดี (พุทธศตวรรษที่ 12 - 16) ต่อเนื่องมาในสมัยลพบุรี (พุทธศตวรรษที่ 12 – 18) เป็นดินแดนหลากหลายวัฒนธรรม อาทิ ขอม ส่วย ไทยลาว ผสมผสานเกิดเป็นวัฒนธรรมเฉพาะถิ่นบุรีรัมย์ขึ้น
จังหวัดบุรีรัมย์ เดิมชื่อ “เมืองแปะ” ตามชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่งซึ่งพบมากในบริเวณนี้ และในปี พ.ศ. 2411 ตอนต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เปลี่ยนชื่อเมืองแปะมาเป็น “บุรีรัมย์” ขึ้นต่อเมืองนครราชสีมา และได้ยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัดบุรีรัมย์โดยไม่ต้องขึ้นต่อนครราชสีมา ตั้งแต่ พ.ศ. 2476
บุรีรัมย์เป็นเมืองที่ขึ้นชื่อในดินแดนภูเขาไฟ จากการศึกษาลักษณะธรณีสัณฐานของภูเขาไฟบริเวณตอนใต้ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภูเขาไฟบุรีรัมย์เคยเกิดขึ้นเมื่อห้วงเวลาประมาณ 6 แสนปี ถึง 2 ล้านปีที่แล้ว ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่ มีทั้งภูเขาไฟลูกเล็ก ภูเขาไฟลูกใหญ่ และกลายเป็นที่รู้จักของผู้คนในปัจจุบัน
ภูเขาไฟในจังหวัดบุรีรัมย์ เกิดจากการไหลทะลักของลาวาตามแนวรอยเลื่อนแบบรอยเลื่อนย้อน โดยภูเขาไฟแพร่กระจายอยู่ห่างจากแนวรอยเลื่อนขึ้นไปทางเหนือเป็นระยะ ๆ
ภูเขาไฟแต่ละแนวดังกล่าวมีอายุแตกต่างกัน แนวที่อยู่ใกล้รอยเลื่อนมากที่สุดคือ ภูเขาไฟแนวแรก มีอายุเก่าแก่ที่สุด ประมาณไม่เกิน 2 ล้านปี ภูเขาไฟทั้งหมดในพื้นที่ประเทศไทยเป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว จึงไม่มีทางที่จะเกิดการปะทุใหม่ได้อีกครั้ง
นอกเหนือจากความพิเศษด้านพื้นที่กายภาพของธรรมชาติเมืองบุรีรัมย์ มีอีกหนึ่งอย่างที่มีความพิเศษไม่ต่างกัน และยังคงอยู่กับผู้คนมาอย่างยาว สิ่งนั้นก็คือภูมิปัญญา และศิลปะวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของดินแดนอีสานใต้ ชาวบ้านในอำเภอประโคนชัยและอำเภอเมือง ได้ร่วมกับคณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์จัดกิจกรรมวางแผนการ ท่องเท่ียวเช่ือมโยง 6 ชุมชน
ด้วยการนำทรัพยากรท่ีมีมาก่อให้เกิดรายได้พร้อมผลักดันพื้นที่ชุมชนภูเขาไฟบุรีรัมย์ให้เป็นหมุดหมายใหม่ทางการท่องเท่ียว
มุ่งเน้นการสร้างความประทับใจในทรัพยากรชุมชนให้กับนักท่องเที่ยว โดยผ่านกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การทำวุ้นข้าวภูเขาไฟ การเดินป่าชุมชนศึกษาระบบนิเวศน์ การทำผ้ามัดย้อมจากดินภูเขาไฟ ชมการทำขนมจีนเส้นสด น้ำยาสูตรโบราณ ชิมกุ้งจ่อมสมุนไพร และอาหารพื้นถิ่นนานาชนิด ทั้งนี้จะเน้นการท่องเที่ยวเป็นกลุ่มเล็กและนักท่องเที่ยวที่มาเยือนจะต้องมีผลตรวจร่างกายเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 และต้องปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
ภูเขาไฟแห่งศิลปะวัฒนธรรม ฟอสซิลแห่งความงามที่ถูกฝังกลบด้วยสถานการณ์โรคระบาด เอกลักษณ์ของชุมชนที่ยังคงโดดเด่น ก็ยังไม่เคยสูญหายไปตามกาลเวลา เพียงเพื่อรอคอยการปะทุใหม่อีกครั้งในวันเวลา และสถานการณ์ที่เหมาะสม ภูเขาไฟแห่งความงดงามจากผู้คนในชุมชนยังคงถูกหล่อหลอม เตรียมพร้อมปะทุสู่ปากปล่องภูเขาแห่งความสุขใจเมื่อมีผู้คนแวะมาเยือน พี่น้องไทบุรีรัมย์ยังคงเข้มแข็ง และมุ่งมั่นสู่เป้าหมายการเป็นหมุดหมายใหม่ของพื้นที่การท่องเที่ยว ที่พร้อมปะทุความสุข ความอิ่มเอมใจ และพร้อมต้อนรับทุกคนที่มาเยือนอ้อมกอดแห่ง Jurassic Buri ใหม่ในอีกครั้ง
ข้อมูลที่มา : หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่น จังหวัดบุรีรัมย์
ติดตามชมรายการ HAVE A NEWSDAY
รายการอัปเดตข่าวจากสถานการณ์เด่นในรอบสัปดาห์ เป็น Family News สำหรับทุกคนในครอบครัว
ทุกวันจันทร์ - อาทิตย์ ทาง ALTV ช่อง 4 ทีวีเรียนสนุก
ช่องทาง : www.ALTV.tv/HaveANewsDay | TV Digital CH4