หากจะกล่าวถึง “เทควันโด” หลายคนคงรู้สึกคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว เมื่อไม่นานมานี้เราเพิ่งถือกำเนิดนักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทยคนแรก ที่คว้าเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ได้สำเร็จอย่าง “เทนนิส พาณิภัค” ด้วยเหตุนี้อาจทำให้ใครหลายคนอาจรู้สึกสนใจเกี่ยวกับเทควันโดไม่มากก็น้อย ALTV จึงอยากพาทุกคนไปสำรวจเบื้องหลังศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวแขนงนี้ ตั้งแต่ดีเทลเล็ก ๆ ที่คนมองข้ามอย่างสายเข็มขัดกันไปเลยว่ามีอะไรซ่อนอยู่
ระบบเข็มขัดเทควันโด มีรากฐานมาจากระบบสายเข็มขัดยูโด หรือที่เรียกว่า โคโดคันคยูดัน (Kodokan Kyu-dan) คิดค้นโดยชายชาวญี่ปุ่น นามว่า จิโกโร คาโนะ ผู้ค้นพบศิลปะการต่อสู้ยูโด (Judo) คนแรกของโลก แรกเริ่มเดิมทีมีสายเพียงแค่สองสี ได้แก่ สีดำ (สำหรับระดับอาวุโส) และ สีขาว (สำหรับผู้เรียน) ในภายหลังเมื่อยูโดได้รับความนิยมทั้งในและนอกประเทศ ศิลปะการต่อสู้อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น คาราเต้ หรือเทควันโด ก็ได้นำระบบเข็มขัดโคโดคันคยูดัน มาใช้แบ่งระดับผู้เรียนของตนเช่นดียวกัน
แน่นอนว่าศิลปะแต่ละแขนงมีการนับลำดับสายไม่เหมือนกัน แต่มีจุดร่วมเดียวคือ สีเข็มขัดของผู้เรียนจะเปลี่ยนไปทุกครั้งเมื่อมีการเลื่อนขั้นไปสู่ระดับที่สูงขึ้น ด้วยเหตุนี้มันจึงมีความหมายมากกว่าเป็นเพียงเครื่องแต่งกาย หากแต่เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความก้าวหน้าและระดับประสบการณ์ของผู้เรียน
ระบบสายเข็มขัดเทควันโด แบ่งได้ 2 แบบด้วยกัน
ได้มีเรื่องเล่าขานกันในแวดวงผู้ฝึกฝนศิลปะป้องกันตัวว่า แรกเริ่มผู้เรียนที่ไม่มีความรู้หรือประสบการณ์จะได้รับสายสีขาว แต่เมื่อผ่านการฝึกฝนอย่างหนักเป็นเวลานาน จากสายสีขาวจะเปื้อนไปด้วยคราบฝุ่น เหงื่อ เลือด และน้ำตา จนเมื่อวันเวลาล่วงเลยไป สายคาดเอวสีขาวจะค่อย ๆ แปรเปลี่ยนเป็นสีที่คล้ำขึ้น จนกลายเป็นสีดำในที่สุด
ในทางกลับกันหากไม่หมั่นขยันฝึกซ้อม สายสีเข้มก็จะค่อย ๆ จางลงกลับกลายเป็นสีขาวดังเดิม เป็นเสมือนเรื่องราวสอนใจผู้เรียนว่า การจะประสบความสำเร็จบนเส้นทางนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องผ่านการฝึกฝนที่อาจต้องแลกมาด้วยหยาดเหงื่อและคราบน้ำตา
เป้าหมายของระบบเข็มขัดในศิลปะการต่อสู้ มีไว้เพื่อแสดงถึงความสามารถและองค์ความรู้ของผู้เรียน "สายดำ" ที่เป็นสายขั้นสุดท้าย จึงมักถูกเชื่อมโยงเข้ากับตำแหน่งที่สูงมากในศิลปะการต่อสู้ ในภาพจำของคนนอกที่ไม่ได้คลุกคลีกับกีฬาเทควันโดอย่างเรา ๆ จึงมักเข้าใจว่า ผู้ที่คาดเข็มขัดสายดำนั้นเปรียบเสมือนเทพเจ้าแห่งเทควันโดไปแล้ว แต่ในความเป็นจริง สายดำยังไม่ใช่จุดสิ้นสุดสำหรับนักเทควันโด แต่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นใหม่ในระดับที่สูงขึ้น
สมาคมเทควันโดระดับโลก (Kukkiwon) ได้กำหนดให้สายดำมีด้วยกันทั้งหมด 10 ระดับ (ดั้ง) หมายความว่า เมื่อใครก็ตามที่สอบเลื่อนขั้นไปสู่สายดำสายแรกได้สำเร็จ จะมีสายดำอีก 9 ระดับรอให้พิชิตอยู่
จีซอง เจสัน อ๊ก หัวหน้าผู้ฝึกสอนเทควันโดคุณวุฒิสายดำ ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวกับ Howcast ไว้ว่า การเปลี่ยนผ่านจากสายสี ไปสู่สายดำเส้นแรก ส่วนหนึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าผู้เรียนมีองค์ความรู้ที่อยู่ในระดับสูง แตกต่างจากระดับสายสีอย่างชัดเจน ในทางกลับกันก็เป็นเพียงการสำเร็จเทควันโดขั้นพื้นฐานเท่านั้น
เมื่ออ่านถึงตรงนี้แล้ว คำถามที่ตามมาคือแล้วต้องใช้ระยะเวลาไหร่ กว่าจะไต่เต้าไปถึงสายดำ ? ดาร์วิน ไอเซ็นฮาร์ต นักเทควันโดชาวอเมริกัน คุณวุฒิสายดำ ระดับ 7 ผู้มีประสบการณ์มามากกว่า 50 ปี กล่าวไว้ว่า สำหรับผู้เรียนที่ขยันหมั่นเพียร และซึมซับบทเรียนได้รวดเร็ว อาจมีแนวโน้มเลื่อนขั้นจากสายสี ไปสู่สายดำได้ภายใน 2 ปี แต่คำตอบนี้ก็เป็นเพียงการคาดคะเนอย่างคร่าว ๆ และไม่ใช่คำตอบสำหรับทุกคน
"ระยะเวลาของการเลื่อนขั้นไปสู่สายดำ จะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับผู้เรียน" ดาร์วินกล่าว บางคนผ่านการฝึกฝนเป็นประจำจนตกผลึกทางความคิดได้รวดเร็ว การเลื่อนขั้นไปสู่สายดำจึงใช้เวลาไม่นานนัก ส่วนบางคนใช้เวลานานกว่าด้วยหลายปัจจัย ซึ่งเป็นเรื่องปกติเพราะการเติบโตของแต่ละคนเปรียบเสมือนกับต้นไม้ต่างพันธุ์ ที่มีช่วงเวลาการผลิดอกออกผลไม่เหมือนกัน บ้างก็ใช้เวลาไม่นาน บ้างก็ใช้เวลานานหลายปีกว่าจะออกผลสุกงอม
ถึงแม้ว่า “ความช้า” มักถูกเชื่อมโยงกับ “ความไม่เก่ง” อยู่บ่อยครั้ง แต่ก็เป็นเพียงมายาคติที่ยังหาข้อพิสูจน์ไม่ได้ การเลื่อนขั้นสู่สายดำจะช้าหรือเร็วจึงไม่ใช่ตัวการันตีว่า ใครมีความสามารถมากกว่ากัน อีกทั้งยังไม่ใช่หลักสำคัญของศาสตร์แห่งศิลปะการต่อสู้และป้องกันตัว หากแต่เป็นความรู้ความเข้าใจในแก่นเนื้อหาวิชาการต่อสู้เสียมากกว่า
สำหรับน้อง ๆ คนไหนที่สนใจใอยากพิชิตเทควันโดสายดำ สามารถรับชมสาระความรู้และเทคนิคดี ๆ จากพี่เทนนิส พาณิภัคและโค้ชวิว เยาวภาได้ที่ รายการ The camp ค่ายหรรษา ตอน แคมป์เตะพิชิตใจ
ที่มา: Sporting News Way of Martial Arts Traditional Dojo Howcast