APEC ย่อมาจาก Asia-Pacific Economic Cooperation เป็นการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่มีความสำคัญระดับโลก ครอบคลุมทุกมิติ เป้าหมายหลักก็เพื่อส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ในด้านการค้า การลงทุน แบบพึ่งพาซึ่งกันและกันของกลุ่มประเทศที่ตั้งอยู่ในแถบมหาสมุทรแปซิฟิก
ปัจจุบันสมาชิกที่เข้าร่วม APEC มีจำนวน 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, รัสเซีย, สาธารณรัฐประชาชนจีน, ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย, บรูไนดารุสซาลาม, แคนาดา, ชิลี, เขตปกครองพิเศษฮ่องกง, อินโดนีเซีย, เกาหลีใต้, มาเลเซีย, ปาปัวนิวกินี, เม็กซิโก, นิวซีแลนด์, เปรู, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, เขตเศรษฐกิจไทเป (ไต้หวัน), เวียดนาม และไทย
🔷ครั้งแรกของการประชุม APEC เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. 2532 ในขณะนั้นเป็นการหารือร่วมกัน “อย่างไม่เป็นทางการ” ในระดับรัฐมนตรีของสมาชิกผู้ก่อตั้ง 12 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย, สหรัฐอเมริกา, บรูไนดารุสซาลาม, แคนาดา, อินโดนีเซีย, ญี่ปุ่น, เกาหลี, มาเลเซีย, นิวซีแลนด์, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์ และประเทศไทย
จนกระทั่งปี พ.ศ. 2536 Bill Clinton อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ได้กำหนดให้มีวาระการประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปคเป็นประจำทุกปี เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองเชิงกลยุทธ์ การค้าเสรีและการพัฒนาด้านต่าง ๆ ที่ดีขึ้น เช่น เศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง สาธารณสุข และการเกษตร สำหรับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
🔷ประเทศไทยได้เวียนเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APEC ทั้งหมด 3 ครั้ง ถือว่ามากกว่าประเทศอื่น ณ ตอนนี้
ครั้งแรก APEC Thailand 1992 (ปีพ.ศ. 2535) เป็นการประชุมเอเปค ครั้งที่ 4 ในสมัยนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี สาระสำคัญ คือ การจัดตั้งสำนักเลขาธิการเอเปค หรือ APEC Secretariat ที่สิงคโปร์
ครั้งที่ 2 APEC Thailand 2003 (ปีพ.ศ. 2546) เป็นการประชุมเอเปค ครั้งที่ 15 ในสมัยนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี แนวคิดหลักของการประชุมเอเปคในครั้งนั้น คือ “โลกแห่งความแตกต่าง : หุ้นส่วนเพื่ออนาคต” (Different worlds: Partnership for the Future) สาระสำคัญ คือ การผลักดันให้หลายฝ่ายเกิด “การเจรจาการค้ารอบโดฮา” (The Doha Round) ภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) และต่อต้านการก่อการร้ายที่เป็นตัวแปรสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
ครั้งที่ 3 (ล่าสุด) ปี พ.ศ. 2565 หรือ APEC Thailand 2022 เป็นการประชุมเอเปค ครั้งที่ 29 ในสมัยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ภายใต้แนวคิด “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล” หรือ Open : Connect : Balance สาระสำคัญ คือ มุ่งผลักดันเป้าหมาย 3 ประการให้เกิดเป็นรูปธรรม ได้แก่
🔷APEC เป็นตลาดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก มี GDP รวมมากถึง 2 ใน 3 ของ GDP โลก ขนาดประชากรของทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจมารวมกัน มีมากกว่า 3 พันล้านคน หรือคิดเป็น 38% ของประชากรของทั้งโลก โดยมี GDP รวมกัน มูลค่า 52 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 62% หรือ 2 ใน 3 ของ GDP โลก ซึ่งหมายถึง “กำลังซื้อ” ของประชากรที่มีการขยายตัวมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
🔷เขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดใน APEC 3 อันดับแรก คือ จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เกาหลีใต้แซงหน้ารัสเซียขึ้นมาอยู่อันดับที่ 4 เป็นที่เรียบร้อย โดยคิดตามมูลค่าการค้าในปี 2563
เมื่อรวมมูลค่าการค้าทั้ง 3 ประเทศคิดเป็นอัตราส่วนมากถึง 1 ใน 4 ของมูลค่าการค้าโลกเลยทีเดียว
🔷ไทยทำการค้าระหว่าง APEC มากถึง 71.52% ของการค้ารวมทั้งหมดของไทย โดยมีมูลค่ากว่า 12.2 ล้านล้านบาท (385 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และปีล่าสุดช่วง ม.ค.-ก.ย. 2565 ที่ผ่านมา มีตัวเลขเพิ่มขึ้นอีก 10.65% มูลค่า 10.7 ล้านล้านบาท หรือ 314 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น APEC จึงมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก
🔷Top 3 สินค้าส่งออกที่ทำกำไรให้ประเทศไทยมากที่สุด ได้แก่
และจากข้อมูลล่าสุดตั้งแต่ปี 2564 - 2565 “สินค้ามาแรง” ที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้นมากถึง 167.72% คือ เครื่องประดับและอัญมณี โดยมีมูลค่า 6,574.87 ล้านเหรียญสหรัฐ มาเป็นอันดับที่ 4 (อ้างอิงจาก: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ)
“ลูกโลกเอเปค” เป็นเครื่องหมายการค้าสากลของ APEC ที่สะท้อนภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือ ในแต่ละปีประเทศเจ้าภาพจะนำมาใช้ควบคู่กับตราสัญลักษณ์ประจำปีนั้น ๆ โดยแนวคิดการออกแบบมักสอดคล้องกับเอกลักษณ์และวัฒนธรรมของเจ้าบ้าน รวมถึงความหมายที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสมาชิกเอเปค
APEC Thailand 2022 สัญลักษณ์ ‘ชะลอม’ เครื่องจักสานไทยที่ใช้ใส่สิ่งของมาแต่โบราณ ถือเป็นสัญลักษณ์แห่ง “การค้าขาย” และ “การให้” ของคนไทย
แนวคิดและความหมาย ชะลอม สะท้อนถึงการค้าที่เปิดกว้าง เชื่อมโยงมิตรภาพเข้าด้วยกัน และความยั่งยืน เพราะชะลอมทำจากไม้ไผ่ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับแนวคิดของการประชุมในครั้งนี้ คือ Open : Connect : Balance
ออกแบบโดย ชวนนท์ วงศ์ตระกูลจง นิสิตภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
APEC Malaysia 2020 เป็นภาพ "ดอกชบา" (Hibiscus rosa-sinensis) ดอกไม้ประจำชาติของมาเลเซีย หรือที่รู้จักกันในชื่อ Bunga Raya
แนวคิดและความหมาย Bunga Raya แปลตรงตัวหมายถึง "ดอกไม้เฉลิมฉลอง" สัญลักษณ์แห่งความสามัคคีและความหลากหลาย
APEC South Korea 2005 สัญลักษณ์ “แทกึก” (Taegeuk) สัญลักษณ์เก่าแก่ประจำชาติเกาหลีที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์
แนวคิดและความหมาย แทกึก คล้ายกับสัญลักษณ์หยิน-หยาง แสดงถึงความสามัคคีและความกลมกลืนในจักรวาล
APEC Thailand 2003 รูปเรือหลวง “ศรีสุพรรณหงส์” เรือพระที่นั่งสำคัญของพระมหากษัตริย์ไทย
แนวคิดและความหมาย แสดงถึงมรดกและวัฒนธรรมของประเทศไทย ความผูกพันอันแน่นแฟ้นทางประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของประเทศสมาชิกเอเปค
ขอบคุณข้อมูล: กระทรวงการต่างประเทศ, APEC Thailand 2022, www.apec.org