“ฝนตก กลางเดือนธันวาคม” เมื่อได้เห็นคำนี้ หลายคนอาจนึกถึงเรื่องราวในหลายแง่มุม อาจมีทั้ง “ฝนอะไร? ตกฤดูนี้” หรือ “ฝนตกดีแล้ว จะได้ช่วยลดฝุ่น pm 2.5” แต่ไม่ว่าแง่มุมไหน ข้อเท็จจริงที่ไม่มีใครปฏิเสธได้คือ นี่คือ “ปรากฏการณ์ ที่ไม่เหมือนเดิม” โจทย์สำคัญคือ เราจะอยู่รอดบนโลกที่ไม่เหมือนเดิมนี้ได้อย่างไร
“การเรียนรู้ เพื่อปรับตัวเป็น และอยู่รอดได้” เป็นวิธีหนึ่งที่หลายคนนึกถึง และพยายามผลักดันให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะ การจัดการเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชน เพื่อให้พวกเขาสามารถอยู่รอดและเติบโตได้ ในโลกที่ไม่เหมือนเดิม
“ห้องเรียนสู้ฝุ่น” เป็นโครงการหนึ่งที่หลายฝ่ายพยายามผลักดันให้เกิดขึ้น ตั้งแต่สถานการณ์ปัญหาฝุ่น pm 2.5 เริ่มทวีความรุนแรงขึ้น เป้าหมายสำคัญคือเพื่อป้องกันเด็กจาก “ภัยฝุ่น” ด้วยการจัดการเรียนรู้ในห้องเรียน ควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาทางนโยบาย
แม้การจัดการเรียนรู้ในเรื่องนี้ จะมีความยากกว่าการเรียนการสอนในวิชาทั่วไป แต่ความพยายามของหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ก็ทำให้ห้องเรียนนี้ เริ่มแข็งแรงขึ้น โดยเฉพาะการเสริมความแข็งแกร่งให้กับ “ครู” ที่ต้องรับภาระเรื่องนี้โดยตรง
โดยล่าสุด กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ ศูนย์สื่อสาธารณะเพื่อเด็กและการเรียนรู้ ไทยพีบีเอส และภาคีเครือข่ายหลัก ได้แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), หน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐ (USAID), โครงการแม่โขงเพื่ออนาคต (Maekong for the Future - MMF) และกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) ร่วมจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” เพื่อยกระดับองค์ความรู้การรับมือภัยพิบัติจากฝุ่น เมื่อวันที่ 4 และ 6 ธันวาคม 2567 ที่ไทยพีบีเอส โดยมีคุณครูจากโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครเข้าร่วมจำนวน 405 โรงเรียน กิจกรรมนี้ยังได้มอบเครื่องวัดคุณภาพอากาศให้โรงเรียนนำไปติดตั้ง เพื่อจัดการเรียนรู้และช่วยเตือนภัยให้แก่นักเรียนในช่วงฤดูฝุ่น รวมทั้งการเปิด “ข้อเสนอเชิงนโยบายมิติ “ควันข้ามแดน” ต่อ พรบ.อากาศสะอาด” ซึ่งนอกจากการพัฒนากลไกความร่วมมือระหว่างประเทศ ยังให้รวมถึง การสร้างความตระหนักรู้ให้เท่าทันปัญหาฝุ่นสำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่ ผ่านการศึกษา
คำถามสำคัญคือ “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” จะนำไปสู่การรับมือวิกฤตภัยฝุ่นได้อย่างไร “ALTV” สนทนากับ ผศ.ดร.นิอร สิริมงคลเลิศกุล อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงราย ในฐานะที่ปรึกษาโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่น เพื่อหาคำตอบนี้
ความรู้จาก “ห้องเรียน” ขยายสู่ “ครอบครัว - ชุมชน”
เพราะเครื่องมือแรกที่จะช่วยให้เรารับมือภัยฝุ่นได้ คือ ความรู้ ทำให้ ผศ.ดร.นิอร ยืนยันว่า แม้ทุกวันนี้ข้อมูลข่าวสารภัยฝุ่นจะมีมาต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการเรียนรู้ในระดับชุมชน “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” จึงต้องเกิดขึ้น เพื่อให้เกิดการจัดการเรียนรู้ ที่ไม่ใช่แค่การปรับตัว แต่ต้องมองไปให้เห็นความสามารถในการรับมือของภาครัฐ
“เรารู้แต่ว่าค่าฝุ่นวันนี้เป็นยังไง ค่าฝุ่นเท่าไหร่ แต่เราไม่รู้เลยว่า แล้วมันไปยังไงต่อ เราจะรับมือกับมันอย่างไร ถ้ามองกลับไปอีกนิด แล้วลูกหลานเรา ตัวเล็กตัวน้อย จะปรับตัวกับมันอย่างไร รับมืออย่างไร คนรุ่นใหม่จะอยู่ในโลกที่มันรวนแบบนี้ยังไง อันนี้สำคัญ แล้วมันไปมองถึงการรับมือของภาครัฐ ว่ารัฐได้มองไปถึงการแก้ไขในระดับนโยบายของการฟื้นฟู การป้องกัน การ warning ที่จะปลอดภัย แล้วก็ให้มันเท่าทันให้เร็วที่สุด”
ผศ.นิอร ยืนยันด้วยว่า เรื่องนี้ควรต้องถูกยกระดับให้เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่ใช่แค่การเรียนในห้องเรียน แต่พ่อแม่ ผู้ปกครอง รวมไปถึงผู้ใหญ่ทุกคน ก็ต้องเรียนรู้ด้วย และที่สำคัญ ต้องเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ไม่ใช่แค่ในเอกสารหรือหนังสือเรียน เพราะมันเป็นภัยใกล้ตัว ยกตัวอย่างภัยพิบัติที่เพิ่งเกิดขึ้น น้ำท่วมเชียงราย ที่ท้ายที่สุดแล้ว ก็คือสึนามิโคลน แต่คนทางเหนือโดยเฉพาะจังหวัดเชียงราย ถูกสอนมาตลอดว่า เชียงรายไม่มีสึนามิ เลยไม่มีการเรียนรู้ แต่เมื่อมันเกิดขึ้นจริง มันมีแต่ความโกลาหล จนหลายคนไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตเหมือนเดิมได้ทันที
“นี่คือสิ่งที่เราจะต้องเรียนรู้ รัฐบาลก็ต้องเรียนรู้จากอุบัติภัยเหล่านี้ที่เกิดขึ้น และรับมือกับมันให้มากกว่าแค่การฟื้นฟูที่เป็นรูปธรรมเท่านั้นที่เรามองเห็น แต่มันจะต้องไปสู่แผนของการรับมือที่มันเข้าไปถึงชุมชน เข้าไปถึงพื้นที่จริงๆ เพราะฉะนั้น การเรียนรู้ของคนในชุมชนก็ต้องถูกถอดบทเรียนออกมา แล้วก็ถูกถ่ายทอด แล้วมันจะต้องเป็น Lesson Learn คือมันจะต้องเป็น Area Base มากกว่าที่จะเป็นจากข้างบนลงไปข้างล่างเท่านั้น”
“ปฐมวัย” ก็เรียนรู้ได้ แค่ “ครู” เปลี่ยนมุมมอง
แล้วการเรียนรู้ในห้องเรียน ควรเริ่มตั้งแต่วัยไหน ผศ.นิอร ระบุว่า ประเด็นนี้เป็นโจทย์ที่โดนถามมาตลอด เพราะมีบางความคิดว่า เป็นเรื่องมันยากเกินไปสำหรับอนุบาล แต่อย่างไรก็ตาม เห็นว่า เรื่องนี้อาจต้องเปลี่ยนมุมมองแล้วตั้งคำถามใหม่ว่า เด็กอนุบาลพอจะเรียนรู้เรื่องอะไรได้บ้าง
“เราเห็นได้ชัด เด็กอนุบาลสามารถอ่านค่าฝุ่น แปลค่าฝุ่นเองได้ว่าวันนั้นเขาปลอดภัยไหม วันนั้น อากาศสดใสหรือเปล่า คือเล็กๆ น้อยๆ เราเพิ่มภูมิคุ้มกันแบบนี้ให้กับเขา เป็นความรู้ที่เป็นภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิต สิ่งสำคัญคือ ความเชื่อมั่น และความตั้งใจ เพราะถ้าเรามีความตั้งใจที่อยากจะให้เขารู้ วิธีการจะตามมา เพราะฉะนั้นต้องตั้งต้นก่อนว่า ครูอยากให้เขารู้เรื่องอะไร”
นอกจากครูเปลี่ยนมุมมอง ผศ.นิอร ระบุว่า ครู ก็ต้องเพิ่มความจริงจังในการเรียนรู้เรื่องนี้ และยังต้องกัดไม่ปล่อย เพราะภัยพิบัติไม่รอเรา ไม่ใช่ว่าปีนี้ไม่มีปัญหาเรื่องฝุ่น แต่เราอาจจะเจอภัยอย่างอื่น เช่น ภัยของโรคระบาดอื่นๆ ในหน้าฝน
“สิ่งสำคัญที่สุด คือ ลูกหลานเราต้องปลอดภัย แต่เขาปลอดภัยยังไง มีอายุ มีชีวิตที่ยืนยาวในโลกที่มันรวนอย่างนี้ได้ยังไง นี่คือสิ่งที่สำคัญ”
เสนอรัฐ ยกระดับการเรียนรู้ “ภัยฝุ่น” หนุนเสริมพลังครู
ผศ.ดร.นิอร มองว่า เพื่อให้การเรียนรู้เรื่องภัยฝุ่น ถูกกระจายเป็นวงกว้างมากขึ้น ภาครัฐต้องยกขึ้นให้ถึงระดับนโยบาย และสิ่งสำคัญคือ ต้องไม่เป็นนโยบายที่กดดันผู้ปฏิบัติ หรือ “ครู” จนเกินไป แต่ต้องเป็นนโยบายที่หนุนเสริม
“พอบอกว่ามีนโยบาย ทุกโรงเรียนต้องทำเรื่องฝุ่น ก็จะต้องมีการตรวจวัด KPI ข้อสอบมีเรื่องฝุ่นไหม คือมันจะต้องไม่เป็นแบบนั้นอีกต่อไป แต่มันจะต้องเป็นการหนุนเสริม เช่น มีการเปิดโอกาสให้ครูได้มาร่วมกันสร้างพลังเครือข่าย มีพื้นที่ๆ จะแชร์ร่วมกันโดยไม่เป็นภาระ และต้องมีโอกาสที่จะให้ครูในพื้นที่สูง พื้นที่ห่างไกล ได้รับโอกาสในการร่วมในระดับประเทศ ในระดับนานาชาติ ว่าที่อื่นเขาทำยังไง ไปปลั๊กกับการทำงานในระดับ UN ยังไง อันนี้เป็นพลังมากๆ”
ผศ.ดร.นิอร มองว่า การไม่เป็นนโยบายที่กดดัน จะทำให้ครูกล้าที่จะใช้ความคิดสร้างสรรค์ ทำให้การเรียนรู้ในห้องเรียนมีความสนุกมากขึ้น และอาจสามารถขยายเป็นเครือข่ายโรงเรียนสู้ฝุ่น สุดท้ายผลดีทั้งหมดก็จะตกแก่เด็กนักเรียนต่อไป
“เราอยากจะให้เป็นเครือข่ายของโรงเรียนสู้ฝุ่น จากห้องเรียนไปสู่ครอบครัว และจากครอบครัวไปสู่ชุมชน และเราจะชวนเพื่อนๆ หลายๆ โรงเรียน มาเป็นองคาพยพ เราอยากได้ใจของครู แค่โรงเรียนละ 1 คนที่เข้ามา จะสร้างพลังมากมาย เพราะครูสอนเด็กรุ่นแล้วรุ่นเล่า แล้วเราก็จะเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ จะยิ่งเกิดขึ้นไปเรื่อยๆ”